21 กรกฎาคม 2553

ประวัติการปกครองของไทยสมัยรัตนโกสินทร์



สภาพทางการเมืองในช่วงรัตนโกสินทร์ตอนต้น ยังคงรูปแบบของระบบประชาธิปไตยอันเป็นระบบการปกครองที่สืบทอดมาช้านาน การเปลี่ยนแปลงภายในตัวระบบอยู่ที่การปรับบทบาทของสถาบันกษัตริย์ ซึ่งเป็นสถาบันสูงสุดที่ทำหน้าที่ปกครองประเทศ รูปแบบของสถาบ้นกษัตริย์สมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น คลายความเป็นเทวราชาลงเป็นอย่างมาก ขณะเดียวกันก็กลับเน้นคติและรูปแบบของธรรมราชาขึ้นแทนที่ อย่างไรก็ตาม อำนาจอันล้นพ้นของพระมหากษัตริย์ก็มีอยู่แต่ในทางทฤษฎี เพราะในทางปฏิบัติ พระราชอำนาจของพระองค์กลับถูกจำกัดลงด้วยคติธรรมในการปกครอง ซึ่งอิงหลักธรรมของพุทธศาสนา คือ ทศพิธราชธรรม กับอีกประการหนึ่ง คือ การถูกแบ่งพระราชอำนาจตามการจัดระเบียบควบคุมในระบบไพร่ ซึ่งถือกันว่า พระมหากษัตริย์คือมูลนายสูงสุดที่อยู่เหนือมูลนายทั้งปวง แต่ในทางปฏิบัติพระองค์ก็มิอาจจะควบคุมดูแลไพร่พลเป็นจำนวนมากได้ทั่วถึง จึงต้องแบ่งพระราชอำนาจในการบังคับบัญชากำลังคนให้กับมูลนายในระดับรองๆ ลงมา ในลักษณะเช่นนั้น มูลนายที่ได้รับมอบหมายให้กำกับไพร่และบริหารราชการแผ่นดินต่างพระเนตรพระกรรณ จึงเป็นกลุ่มอำนาจมีอีกกลุ่มหนึ่ง ซึ่งกลุ่มใดจะมีอำนาจเหนือกลุ่มใดก็แล้วแต่สภาพแวดล้อมของสังคมในขณะนั้นเป็นสำคัญ

การปกครองและการบริหารประเทศในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น
กล่าวได้ว่า รูปแบบของการปกครอง ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ยังคงยึดตามแบบฉบับที่สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ทรงวางระเบียบไว้ จะมีการเปลี่ยนแปลงก็เพียงเล็กน้อย เช่น ในสมัยรัชกาลที่ ๑ โปรดฯ ให้คืนเขตการปกครองในหัวเมืองภาคใต้กลับให้สมุหกลาโหมตามเดิม ส่วนสมุหนายกให้ปกครองหัวเมืองทางเหนือ ส่วนพระคลังดูแลหัวเมืองชายทะเล ในด้านระบบการบริหาร ก็ยังคงมีอัครมหาเสนาบดี ๒ ฝ่าย คือ สมุหนายกเป็นหัวหน้าฝ่ายพลเรือน ดูแลบังคับบัญชาหัวเมืองฝ่ายเหนือ และสมุหกลาโหม เป็นหัวหน้าราชการฝ่ายทหาร ดูแลบังคับบัญชาหัวเมืองฝ่ายใต้ ตำแหน่งรองลงมาคือ เสนาบดีจตุสดมภ์ แบ่งตามชื่อกรมที่มีอยู่คือ เวียง วัง คลังและ นา ในบรรดาเสนาทั้ง ๔ กรมนี้ เสนาบดีกรมคลังจะมีบทบาทและภาระหน้าที่มากที่สุด คือนอกจากจะบริหารการคลังของประเทศแล้ว ยังมีหน้าที่ดูแลบังคับบัญชาหัวเมืองชายทะเลตะวันออก เสนาบดีทั้งหลายมีอำนาจสั่งการภายในเขตความรับผิดชอบของตน รูปแบบที่ถือปฏิบัติก็คือ ส่งคำสั่งและรับรายงานจากเมืองในสังกัดของตน ถ้ามีเรื่องร้ายที่เกิดขึ้น เสนาบดีเจ้าสังกัดจะเป็นแม่ทัพออกไปจัดการเรื่องต่างๆ ให้เรียบร้อย มีศาลของตัวเองและสิทธิในการเก็บภาษีอากรในดินแดนสังกัดของตน รวมทั้งดูแลการลักเลขทะเบียนกำลังคนในสังกัดด้วย
การบริหารในระดับต่ำลงมา อาศัยรูปแบบการปกครองคนในระบบไพร่ คือ แบ่งฝ่ายงานออกเป็นกรมกองต่างๆ แต่ละกรมกอง มีอำนาจหน้าที่ในการจัดการควบคุมกำลังคนในสังกัดของตน โครงสร้างของแต่ละกรม ประกอบด้วยขุนนางข้าราชการอย่างน้อย ๓ ตำแหน่ง คือ เจ้ากรม ปลัดกรม และสมุห์บัญชี กรมมีทั้งขนาดใหญ่และขนาดเล็ก กรมใหญ่มักเป็นกรมสำคัญ เจ้ากรมมีบรรดาศักดิ์ถึงขนาดเจ้าพระยาหรือพระยา
กรมของเจ้านายที่มีความสำคัญมากที่สุด ได้แก่ กรมของพระมหาอุปราช ซึ่งเรียกกันว่า กรมพระราชวังบวรสถานมงคล กรมของพระองค์มีไพร่พลขึ้นสังกัดมาก กรมของเจ้านายมิได้ทำหน้าที่บริหารราชการโดยตรง ถือเป็นกรมที่ควบคุมกำลังคนเป็นสำคัญ เพราะฉะนั้น การแต่งตั้งเจ้านายขึ้นทรงกรมจึงเป็นการให้ทั้งความสำคัญ เกียรติยศ และความมั่นคงเพราะไพร่พลในครอบครองเป็นเครื่องหมายแสดงถึงอำนาจและความมั่งคั่งของมูลนายผู้เป็นเจ้าของการบริหารราชการส่วนกลาง มีพระมหากษัตริย์เป็นมูลนายระดับสูงสุด เจ้านายกับขุนนางข้าราชการผู้บังคับบัญชากรมต่างๆ ทั้งฝ่ายทหารและพลเรือน ฐานะเป็นมูลนายในระดับสูง ช่วยบริหารราชการ โดยมีนายหมวด นายกอง เป็นมูลนายระดับล่างอยู่ใต้บังคับบัญชา และทำหน้าที่ควบคุมไพร่อีกต่อหนึ่ง การสั่งราชการจะผ่านลำดับชั้นของมูลนายลงมาจนถึงไพร่
สำหรับการปกครองในส่วนภูมิภาคหรือการปกครองหัวเมือง ขึ้นอยู่กับอัครมหาเสนาบดี ๒ ท่าน และเสนาบดีคลัง ดังได้กล่าวไว้ข้างต้น หัวเมืองแบ่งออกเป็นสองชั้นใหญ่ๆ ได้แก่ หัวเมืองชั้นในและหัวเมืองชั้นอก การแบ่งหัวเมืองยังมีอีกวิธีหนึ่ง
โดยแบ่งออกเป็น ๔ ขั้น คือ เอก โท ตรี จัตวา ตามความสำคัญทางยุทธศาสตร์และราษฎร
หัวเมืองชั้นใน เป็นหน่วยปกครองที่อยู่ใกล้เมืองหลวง มีเจ้าเมืองหรือผู้รั้ง ทำหน้าที่เป็นหัวหน้าปกครองดูแล
หัวเมืองชั้นนอก มีทั้งหัวเมืองใหญ่ หัวเมืองรอง และหัวเมืองชายแดน หัวเมืองเหล่านี้ อยู่ใต้การปกครองของเจ้าเมือง และข้าราชการในเมืองนั้นๆ
นโยบายที่ใช้ในการปกครองหัวเมืองในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น มีการเปลี่ยนแปลงเพื่อความกระชับยิ่งขึ้น กล่าวคือ รัชกาลที่ ๑ ได้ทรงออกพระราชกำหนดตัดทอนอำนาจเจ้าเมืองในการแต่งตั้งข้าราชการที่สำคัญๆ ทุกตำแหน่ง โดยโอนอำนาจการแต่งตั้งจากกรมเมืองในเมืองหลวง นับเป็นการขยายอำนาจของส่วนกลาง โดยอาศัยการสร้างความจงรักภักดีให้เกิดขึ้นกับเจ้านายทั้งสองฝ่าย คือ ทั้งเจ้าเมือง และข้าราชการที่แต่งตั้งตนในส่วนกลาง ตำแหน่งต่างๆ เหล่านี้ต้องรายงานตัวต่อผู้ตั้งทุกปี ทั้งนี้เพื่อผลในการควบคุมไพร่พลและเกณฑ์ไพร่มาใช้ เพราะฉะนั้น มูลนายในเมืองหลวงจึงได้ควบคุมสัสดีต่างจังหวัดอย่างใกล้ชิด
ส่วนการปกครองในประเทศราช เช่น ลาว เขมร มลายู นั้น ไทยใช้วิธีปกครองโดยทางอ้อม ส่วนใหญ่จะปลูกฝังความนิยมไทยลงในความรู้สึกของเจ้านายเมืองขึ้น โดยการนำเจ้านายจากประเทศราชมาอบรมเลี้ยงดูในฐานะพระราชบุตรบุญธรรมของพระมหากษัตริย์ในราชสำนักไทยหรือสนับสนุนให้มีการแต่งงานกันระหว่างเจ้านายทั้งสองฝ่าย และภายหลังก็ส่งเจ้านายพระองค์นั้นไปปกครองเมืองประเทศราช ด้วยวิธีนี้ จึงทำให้เกิดความรู้สึกผูกพันกันขึ้นระหว่างกษัตริย์ไทยกับเจ้านายเมืองขึ้น การปกครอง หรือการขยายอำนาจอิทธิพลในอาณาจักรต่างๆ เหล่านี้ ฝ่ายไทยและประเทศราชไม่มีการทำสัญญาเป็นลายลักษณ์อักษร แต่ขึ้นกับอำนาจความมั่นคงของราชอาณาจักรไทย เพราะฉะนั้น ในช่วงใดที่ประเทศอ่อนแอ เมืองขึ้นก็อาจแข็งเมืองหรือหันไปหาแหล่งอำนาจใหม่ เพราะฉะนั้น เมื่ออำนาจตะวันออกแผ่อิทธิพลเข้ามาในดินแดนเอเซียอาคเนย์ ปัญหาเรื่องอิทธิพลในเขตแดนต่างๆ จึงเป็นประเด็นสำคัญที่ต้องเวลาทำความตกลงกัน

ประวัติการปกครองของไทยสมัยธนบุรี


การสถาปนากรุงธนบุรีเป็นราชธานี
หลังจากสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชสามารถกู้เอกราชคืนมาจากพม่าแล้ว สภาพบ้านเมืองของกรุงศรีอยุธยาทุดโทรมมาก ไม่เหมาะสมที่จะใช้เป็นเมืองหลวงอีกต่อไป เพราะ
1. กรุงศรีอยุธยาถูกทำลายชำรุดทรุดโทรมมาก ยากแก่การบูรณะให้ดีดังเดิมได้
2. กรุงศรีอยุธยามีบริเวณกว้างขวางมาก เกินกว่ากำลังของพระองค์ที่มีอยู่ เพราะผู้คนอาศัยอยู่ตามเมืองน้อย ส่วนมากหลบหนีพม่าไปอยู่ตามป่า จึงยากแก่การรักษาบ้านเมืองได้สะดวกและปลอดภัย
3. ข้าศึกโดยเฉพาะพม่ารู้ลู่ทางภูมิประเทศและจุดอ่อนของกรุงศรีอยุธยาเป็นอย่างดี ทำให้ไทยเสียเปรียบในด้านการรบ
4. ที่ตั้งของกรุงศรีอยุธยาเป็นอันตรายทั้งทางบกและทางน้ำ ข้าศึกสามารถโจมตีได้สะดวก
5. กรุงศรีอยุธยาตั้งอยู่ห่างจากปากแม่น้ำมากเกินไป ทำให้ไม่สะดวกในการติดต่อค้าขายกับต่างประเทศ ซึ่งนับวันจะเจริญขึ้นเรื่อยๆดังนั้นสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช จึงทรงตัดสินใจเลือกเอากรุงธนบุรีเป็นราชธานีด้วยสาเหตุสำคัญต่อไปนี้
1. กรุงธนบุรีเป็นเมืองขนาดเล็ก เหมาะสมกับกำลังป้องกันทั้งทางบกและทางน้ำ
2. กรุงธนบุรีตั้งอยู่ปากแม่น้ำเจ้าพระยา สะดวกในการติดต่อค้าขายกับต่างประเทศ
3. สะดวกในการควบคุมการลำเลียงอาวุธและเสบียงต่างๆ ไปตามหัวเมืองหรือจากหัวเมืองเข้ามาช่วย เมื่อเกิดศึกสงคราม
4. ถ้าหากข้าศึกยกกำลังมามากเกินกว่ากำลังของทางกรุงธนบุรีจะต้านทานได้ก็สามารถย้ายไปตั้งมั่นที่จันทบุรีได้ โดยอาศัยทางเรือได้อย่างปลอดภัย
5.กรุงธนบุรีมีป้อมปราการอยู่ทั้งสองฟากแม่น้ำ ที่สร้างไว้ตั้งแต่สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชหลงเหลืออยู่สามารถใช้ในการป้องกันข้าศึกได้บ้างที่จะเข้ามารุกรานโดยยกกำลังมาทางเรือ คือ ป้อมวิไชยประสิทธิ์ และป้อมวิไชเยนทร์
การรวบรวมอาณาเขต
เมื่อกรุงศรีอยุธยาเสียแก่พม่าใน พ.ศ. 2310 บ้านเมืองเกิดความวุ่นวายแตกสาแหรกขาด ผู้คนพากันหลบหนีเอาชีวิตรอด เกิดข้าวยากหมากแพง ผู้คนที่รอดพ้นจากการจับกุมและไม่ถูกกวาดต้อนไปยังพม่า ได้พยายามรักษาตัวรอด โดยการซ่องสุมผู้คนขึ้นตั้งกันเป็นก๊กเป็นเหล่า ซึ่งประกอบไปด้วย 5 ชุมนุมได้แก่
1.ชุมนุมเจ้าพิมาย ตั้งอยู่ที่อำเภอพิมาย จังหวัดนครราชสีมาในปัจจุบัน หัวหน้าคือ กรมหมื่นเทพพิพิธ โอรสสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ เจ้าเมืองพิมายมีความจงรักภักดีต่อราชวงศ์บ้านพลูหลวง จึงได้สนับสนุนขึ้นเป็นใหญ่
2.ชุมนุมเจ้าพระฝาง ตั้งอยู่ที่สวางคบุรี ทางเหนือของจังหวัดอุตรดิตถ์ มีอาณาเขตตั้งแต่เมืองพิชัยไปจนถึงเมืองแพร่ เจ้าพระฝาง (เรือน) เป็นสังฆราชเมืองสวางคบุรี มีความสามารถทางคาถาอาคม จึงตั้งตัวเป็นใหญ่ได้ทั้งที่อยู่ในสมณเพศ (แต่ใช้ผ้าแดงนุ่งห่มแทนผ้าเหลือง)
3.ชุมนุมเจ้าพระยาพิษณุโลก ตั้งอยู่ที่จังหวัดพิษณุโลก เจ้าพระยาพิษณุโลก (เรือง) เป็นหัวหน้า เป็นชุมนุมที่สำคัญทางเหนือ มีอาณาเขตตั้งแต่เมืองพิชัย ลงมาถึงนครสวรรค์ เจ้าพระยาพิษณุโลกเป็นขุนนางใหญ่ที่มีความสามารถในด้านการปกครองและการรบ พวกขุนนางที่หลบหนีพม่าออกจากรุงศรีอยุธยาได้ไปสมทบกับชุมนุมนี้เป็นอันมาก ต่อมาถึงแก่พิราลัย หัวหน้าชุมนุมคนต่อมา คือ พระอินทร์อากร
4.ชุมนุมเจ้านครศรีธรรมราช ตั้งอยู่ที่จังหวัดนครศรีธรรมราช หัวหน้าคือ เจ้านครศรีธรรมราช (หนู) หรือหลวงสิทธินายเวร มีอาณาเขตตั้งแต่หัวเมืองมลายูขึ้นมาถึงเมืองชุมพร
5.ชุมนุมพระยาตาก ตั้งอยู่บริเวณหัวเมืองชายทะเลทางฝั่งตะวันออก เมื่อพม่าเข้าล้อมกรุงศรีอยุธยา ได้พยายามป้องกันรักษาบ้านเมืองอย่างเต็มที่ แต่สถานการณ์ของกรุงศรีอยุธยาขณะนั้นคับขันมาก ทำให้พระยาตากรวบรวมสมัครพรรคพวกไทย-จีน ประมาณ 500 คน ตีฝ่ากองทัพพม่าออกจากเมืองในเดือนยี่(มกราคม) พ.ศ.2309 เพื่อที่จะรวบรวมผู้คนมาสู้รบกับพม่าในตอนหลัง
พระยาตากมุ่งหน้าไปทางตะวันออกของเมืองนครนายก และปราจีนบุรี ผ่านฉะเชิงเทรา ชลบุรี ถึงระยอง และที่ระยอง พระยาตากได้ตั้งตัวเป็นใหญ่ พวกบริวารจึงเรียกว่า “เจ้าตาก” แต่นั้นมา การที่เจ้าตากเลือกที่ตั้งมั่นทางหัวเมืองชายฝั่งทะเลตะวันออก เพราะ
1.หัวเมืองชายทะเลฝั่งตะวันออกไม่ได้เป็นเส้นทางที่พม่าเดินทัพผ่าน
2.เจ้าตากตัดสินใจเข้าโจมตีเมืองจันทบุรี เพราะจันทบุรีเป็นหัวเมืองเอกทางฝั่งทะเลด้านตะวันออก อุดมสมบูรณ์ด้วยข้าวปลาอาหาร สามารถค้าขายกับพ่อค้าจีนทางทะเลได้สะดวก และยังมีป้อมปราการมั่นคง เหมาะสำหรับยึดเป็นที่มั่นเพื่อเตรียมการรวบรวมไพร่พลต่อไป เจ้าตากยึดเมืองจันทบุรีได้ในเดือน 7 (มิถุนายน) พ.ศ.2310 หลังจากเสียกรุงศรีอยุธยาแล้ว 2 เดือน

การปราบปรามชุมนุมต่าง ๆ
แผนการปราบปรามชุมนุมต่างๆ เริ่มขึ้นใน พ.ศ. 2311 ด้วยการยกทัพเรือจากธนบุรี เพื่อปราบปรามชุมนุมพิษณุโลก แต่ไม่ประสบความสำเร็จ เพราะได้รับการต่อต้านจนกระทั่งพระเจ้าตากทรงบาดเจ็บต้องยกทัพกลับ ส่วนทางพระยาพิษณุโลกเห็นเป็นโอกาสเหมาะจึงตั้งตัวเป็นกษัตริย์ พอราชาภิเษกได้ 7 วัน ก็ประชวรและถึงแก่พิราลัยในที่สุด พระอินทร์อากรน้องชายได้ขึ้นครองเมืองแทน เมืองพิษณุโลกก็เริ่มอ่อนแอทรุดโทรมลงตามลำดับ ด้วยเหตุนี้เจ้าพระฝางเห็นเป็นโอกาสเหมาะ จึงยกทัพลงมาตีเมืองพิษณุโลกเอาไว้ได้ในที่สุด
ทางฝ่ายสมเด็จพระเจ้าตาก เมื่อทราบข่าวพระยาพิษณุโลกถึงแก่พิราลัยและเมืองพิษณุโลกเกิดรบพุ่งกับเจ้าพระฝางเมืองสวางคบุรี ก็เห็นเป็นโอกาสเหมาะจึงยกทัพไปตีชุมนุมเจ้าพิมาย และตีได้เป็นชุมนุมแรก
พ.ศ.2312 โปรดให้ยกทัพไปตีชุมนุมเจ้านครศรีธรรมราช และสามารถตีเมืองนครศรีธรรมราชได้ มีผลทำให้อำนาจของกรุงธนบุรีขยายไปถึงสงขลา
พัทลุงและเทพา
พ.ศ.2313 ได้ยกทัพไปปราบเจ้าพระฝางได้เป็นผลสำเร็จ ซึ่งขณะเดียวกันก็ยึดเมืองพิษณุโลกได้ด้วย

ความเจริญทางด้านต่างๆ ในสมัยธนบุรี และการติดต่อกับต่างประเทศ
ตลอดระยะเวลา 15 ปี ในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช พระองค์ทรงใช้เวลาส่วนใหญ่ในการต่อสู้ปราบปราม ป้องกันและขยายอาณาเขตของประเทศ จึงไม่ค่อยมีเวลาจะที่จะพัฒนาประเทศทางด้านอื่นมากนัก แต่ถึงกระนั้นพระองค์ก็ทรงพยายามสร้างความเจริญให้แก่ประเทศในด้านต่างๆ ดังนี้
1. ด้านการปกครอง ลักษณะการปกครองของกรุงธนบุรี ดำเนินรอยตามแบบแผนของสมัยอยุธยาตอนปลาย โดยแบ่งการปกครองออกเป็น
1.1 การปกครองส่วนกลางหรือราชธานี อยู่ในความรับผิดชอบของอัครมหาเสนนาบดีทั้ง 2 ตำแหน่ง คือ สมุหกลาโหม ดูแลฝ่ายทหาร และสมุหนายก ดูแลฝ่ายพลเรือน กับตำแหน่งเสนาบดีจตุสดมภ์อีก 4 ตำแหน่ง คือ กรมเวียง กรมวัง กรมคลัง กรมนา กรมทั้ง 4 นี้ มีหน้าที่ คือ
1) กรมเวียง มีหน้าที่ปกครองท้องที่ บังคับบัญชาบ้านเมือง และรักษาความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง
2) กรมวัง มีหน้าที่รับเกี่ยวกับราชสำนัก และพิจารณาพิพากษาคดีความของราษฎร
3) กรมคลัง มีหน้าที่รับจ่ายและเก็บรักษาพระราชทรัพย์ที่ได้มาจากส่วยอากร บังคับบัญชากรมท่าซึ่งเกี่ยวข้องกับการติดต่อค้าขายกับต่างประเทศ และมีหน้าที่เกี่ยวกับพระคลังสินค้าการค้าสำเภาของหลวง
4) กรมนา มีหน้าที่ดูแลการทำนา เก็บข้าวขึ้นฉางหลวง และพิจารณาคดีความเกี่ยวกับเรื่องโค กระบือและที่นา คำว่า “กรม” ในที่นี้หมายความคล้ายกับ “กระทรวง”ในปัจจุบัน

1.2 การปกครองส่วนภูมิภาค แบ่งออกเป็น
1) การปกครองหัวเมืองชั้นใน ที่อยู่รายรอบราชธานี เรียกว่า เมืองชั้นจัตวา มีผู้ปกครองเรียกว่า “ผู้รั้ง” ปฏิบัติตามคำสั่งของเสนาบดีจตุสดมภ์ในราชธานี
2) การปกครองหัวเมืองภายในราชอาณาจักร เรียกว่า หัวเมืองชั้นนอก หรือ เมืองพระยามหานคร เป็นเมืองที่อยู่นอกเขตราชธานีออกไป แบ่งออกเป็นเมืองชื้นเอก โท ตรี
3) การปกครองหัวเมืองประเทศราช ที่อยู่ห่างไกลออกไปถึงชายแดน มีอาณาเขตติดต่อกับประเทศอื่น ต้องส่งเครื่องราชบรรณาการมาให้ตามกำหนด ได้แก่ กัมพูชา ลาว เชียงใหม่ และนครศรีอธรรมราช
2. ด้านกฎหมายและการศาล กฎหมายและวิธีพิจารณาคดีความในศาลสมัยธนบุรี ใช้ตามแบบสมัยอยุธยาเท่าที่มีหลักฐานปรากฏอยู่มีเพียงฉบับเดียว เกี่ยวกับการสักเลก คือ การลงทะเบียนชายฉกรรจ์เพื่อรับใช้ในราชการ เรียกว่า ไพร่หลวง การสักเลกในสมัยนั้นสำคัญมาก เพราะเป็นระยะเวลาของการป้องกันและแผ่อำนาจเพื่อให้ประเทศชาติมั่นคง ส่วนการศาลมักใช้บ้านของเจ้านาย บ้านของตุลาการ บางครั้งสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชก็ทรงเป็นผู้พิพากษาคดีเอง และทรงใช้ศาลทหารและพระบรมราชโองการเป็นกฎหมายใช้ในการตัดสินคดีความด้วย
3. ด้านเศรษฐกิจ หลังจากเสียกรุงศรีอยุธยาแก่พม่าแล้ว สภาพเศรษฐกิจของไทยตกต่ำมากประชาชนยากจนอัตคัดฝืดเคือง อาหารหายากและราคาแพง เนื่องจากในขณะที่เกิดศึกสงครามผู้คนต่างพากันหนีเอาตัวรอด การทำไร่ทำนาต้องหยุดชะงักลง สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าในระยะที่ตั้งกรุงธนบุรีใหม่ๆ ด้วยการจ่ายพระราชทรัพย์ซื้อข้าวจากพ่อค้าต่างประเทศในราคาสูงเพื่อแจกจ่ายประชาชน และชักชวนให้ราษฎรกลับมาตั้งภูมิลำเนาอยู่ตามเมืองต่างๆ ทำมาหากินดังแต่ก่อน นอกจากนั้นสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ยังส่งเสริมทางด้านการค้าขาย มีการส่งเรือสำเภาไปค้าขายยังประเทศ อินเดียและประเทศใกล้เคียง สำหรับสิ่งของที่บรรทุกเรือสำเภาหลวงไปขาย เช่น ดีบุก พริกไทย ครั่ง ขี้ผึ้ง ไม้หอม ฯลฯ และเมื่อขายสินค้าหมดแล้วก็จะซื้อสินค้าต่างประเทศที่ต้องการใช้ในประเทศ เช่น ผ้าลายและถ้วยชามมาขายให้แก่ประชาชนอีกต่อหนึ่ง ซึ่งการค้าขายนี้เป็นแบบเดียวกับสมัยอยุธยา คือ อยู่ภายใต้การดูแลของพระคลังสินค้า หรือกรมาท่า มีการส่งเสริมให้ราษฎรทำการเพาะปลูก ทำให้เศรษฐกิจของประเทศค่อยๆ ดีขึ้นตามลำดับ
4. ด้านสังคม สังคมไทยสมัยกรุงธนบุรีมีการควบคุมอย่างเข้มงวด เพื่อเตรียมพร้อมอยู่เสมอ เพราะมีการทำศึกกับพม่าบ่อยครั้ง มีการสักเลกบอกชื่อสังกัดมูลนายและเมืองไว้ที่ข้อมือไพร่หลวงทุกคน ซึ่งมีหน้าที่รับใช้ราชการปีละ 6 เดือน โดยการมารับราชการ 1 เดือน แล้วหยุดไปทำมาหากินของตนอีก 1 เดือนสลับกันไป เรียกว่า “การเข้าเดือนออกเดือน” ไพร่หลวงอีกพวกหนึ่ง เรียกว่า “ไพร่ส่วย” คือ ไพร่หลวงที่ส่งสิ่งของแทนการใช้แรงงานแก่ราชการ ซึ่งเป็นพวกที่รับใช้แต่เฉพาะเจ้านายที่เป็นขุนนาง
5. ด้านการศึกษา แม้ว่าบ้านเมืองจะอยู่ในภาวะสงคราม แต่สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชก็ทรงทะนุบำรุงการศึกษาอยู่เสมอ ศูนย์กลางการศึกษาในสมัยธนบุรีอยู่ที่วัด เด็กผู้ชายเมื่อมีอายุพอสมควร พ่อแม่มักเอาไปฝากกับพระ เมื่อมีเวลาว่างพระก็จะสอนให้อ่านเขียน หนังสือแบบเรียนที่ใช้คือหนังสือจินดามณี เมื่ออ่านออกเขียนได้แล้ว ก็เรียนแต่งร้อยแก้ว โคลง ฉันท์ กาพย์ กลอน ศึกษาศัพท์ เขมร บาลี สันสกฤต วิชาเลข เรียนมาตราไทย ชั่ง ตวง วัด มาตราเงินไทย คิดหน้าไม้ (วิธีการคำนวณหาจำนวนเนื้อไม้เป็นยก หรือเป็นลูกบาศก์) การศึกษาด้านอาชีพ พ่อแม่มีอาชีพอะไรก็มักฝึกให้ลูกหลานมีอาชีพตามตนเอง โดยฝึกฝนตกทอดกันมาหลายชั่วอายุคน เช่น วิชาช่างและแกะสลัก ช่างปั้น ช่างถม แพทย์แผนโบราณ ฯลฯส่วนสตรี ประเพณีโบราณไม่นิยมให้เรียนหนังสือ มีน้อยคนที่อ่านออกเขียนได้ เด็กผู้หญิงส่วนมากจะถูกฝึกสอนให้ด้านการเย็บปักถักร้อย ทำกับข้าว การจัดบ้านเรือน และมารยาทของกุลสตรี
6. ด้านศาสนา เมื่อครั้งเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 สิ่งสำคัญต่างๆ ในพระพุทธศาสนาถูกทำลายเสียหายมาก หลังจากที่สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงย้ายเมืองหลวงมายังกรุงธนบุรี พระองค์ได้ฟื้นฟูศาสนาขึ้นใหม่โดยชำระความบริสุทธิ์ของพระสงฆ์ พระสงฆ์รูปใดที่ประพฤติไม่อยู่ในพระวินัยก็ให้สึกออกไปเสีย พระสงฆ์รูปใดประพฤติอยู่ในพระวินัยทรงอาราธนาให้บวชเรียนต่อไป นอกจากนี้ พระองค์ทรงบริจาคพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ในการสร้างพระอุโบสถ วิหาร เสาสนะ กุฏิสงฆ์และวัดวาอารามต่างๆ เช่น วันบางยี่เหนือเหนือ (วัดราชคฤห์) วัดบางยี่เรือใต้ (วัดอินทาราม) วัดบางหว้าใหญ่ (วัดระฆังโฆษิตาราม) วัดแจ้ง (วัดอรุณราชวราราม) วัดหงส์ (วัดหงส์รัตนาราม) เป็นต้น นอกจากนี้เมื่อพระองค์ทราบว่าพระไตรปิฎกมีอยู่ที่ใด ก็ทรงให้นำมาคัดลอกเป็นฉบับหลวงไว้ที่กรุงธนบุรี แล้วส่งต้นฉบับกลับไปเก็บไว้ที่เดิม ทรงให้ช่างจารพระไตรปิฎกทั้งจบ ที่สำคัญที่สุดทรงให้อัญเชิญพระแก้วมรกต มาประดิษฐานที่วัดอรุณราชวราราม
7. ด้านศิลปะและวรรณกรรม สมัยกรุงธนบุรีด้านศิลปะมีไม่ค่อยมากนัก เพราะบ้านเมืองอยู่ในภาวะสงคราม ถึงกระนั้นพระองค์ก็ทรงให้มีการละเล่น เพื่อเป็นการบำรุงขวัญประชาชน ให้หายจากความหวาดกลัวและลืมความทุกข์ยาก มีขบวนแห่อัญเชิญและสมโภชพระแก้วมรกตเป็นเวลา 7 วัน การประชันละครระหว่างละครผู้หญิงของเจ้านครศรีธรรมราช และละครหลวง
ผลงานทางด้านวรรณกรรมในสมัยนั้น มีน้อยและไม่สู้สมบูรณ์นัก วรรณกรรมที่มีชื่อเสียง ได้แก่ บทพระราชนิพนธ์เรื่องรามเกียรติ์บางตอน หลวงสรวิชิต (หน) ประพันธ์ลิลิตเพชรมงกุฏและอิเหนาคำฉันท์ นายสวนมหาดเล็ก ประพันธ์โคลงยอพระเกียรติพระเจ้ากรุงธนบุรี การไปติดต่อกับจีนในปลายรัชสมัยทำให้มีวรรณกรรมเกิดขึ้นอีกเรื่องหนึ่ง คือ นิราศพระยามหานุภาพไปเมืองจีน หรือนิราศเมืองกวางตุ้ง
ส่วนผลงานด้านสถาปัตยกรรมในสมัยธนบุรี ไม่มีผลงานดีเด่นที่พอจะอ้างถึงได้