หน่วยที่ 1 กฎหมาย




ความหมายของกฎหมาย

กฎหมายนั้นมีความหมายอยู่หลายประการ ซึ่งความหมายจะแปรเปลี่ยนไปตามเงื่อนไขต่าง ๆ เช่น ลักษณะของสังคมที่แตกต่างกัน สถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลง ความต้องการของประชาชนในสังคม นั้น ๆ แต่หลักที่สำคัญและเป็นความหมายของกฎหมายโดยทั่วไปจะมีอยู่ 4 ประการ คือ


1. กฎหมายต้องเป็นคำสั่ง


2. กฎหมายถูกกำหนดขึ้นโดยผู้มีอำนาจในสังคม


3. กฎหมายใช้บังคับและเป็นที่ทราบแก่คนทั่วไป


4. กฎหมายต้องมีสภาพบังคับแก่ผู้ฝ่าฝืน


มีผู้ให้คำนิยามคำว่า “กฎหมาย” ไว้หลายความหมาย ส่วนใหญ่จะมีลักษณะคล้ายคลึงกันและสอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงของสังคมในแต่ละยุคสมัย แต่โดยนัยแห่งความหมายแล้วคล้ายคลึงกัน เช่น กฎหมาย คือ


1. คำสั่งของผู้ปกครองว่าการแผ่นดิน ต่อราษฎรทั้งหลาย เมื่อไม่ทำตามแล้วตามธรรมดาต้อง รับโทษ


2. ข้อบังคับของรัฐซึ่งกำหนดความประพฤติของมนุษย์ ถ้าฝ่าฝืนจะได้รับผลร้ายหรือถูก ลงโทษ


3. ข้อบังคับของประเทศซึ่งใช้บังคับความประพฤติของพลเมือง ถ้าใครฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามย่อมมีความผิดและย่อมถูกบังคับทำโทษ


4. คำสั่งซึ่งหมู่ชนยอมรับรองโดยตรงหรือโดยปริยาย และประกอบขึ้นด้วยมวลข้อบังคับ ซึ่งหมู่ชนเห็นว่าสำคัญ เพื่อความผาสุกของตน และพร้อมที่จะให้มีการบังคับเพื่อให้ปฏิบัติตาม


5. การแสดงออกของเจตนารมณ์ร่วมกันของประชาชน ซึ่งทุกคนมีสิทธิเข้าร่วมด้วยตนเองหรือโดยผ่านผู้แทนของตนในการสร้างกฎหมาย และใช้บังคับกับประชาชนทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน ไม่ว่าจะเป็นการคุ้มครอง การป้องกันหรือการลงโทษ


6. เครื่องมือที่รับรองผลประโยชน์ของชนชั้นปกครองในการที่จะรักษาสภาพไม่เท่าเทียมกันในสังคม เพื่อผลกำไรของชนชั้นตน


ความสำคัญของกฎหมาย


         มนุษย์เป็นสัตว์สังคมอยู่ร่วมกันเป็นหมู่ เป็นเหล่า ความเจริญของสังคมมนุษย์นั้นยิ่งทำให้สังคมมีความ สลับซับซ้อน ตามสัญชาตญาณของมนุษย์แล้ว ย่อมชอบที่จะกระทำสิ่งใด ๆ ตามใจชอบ ถ้าหากไม่มีการ ควบคุมพฤติกรรมของมนุษย์แล้ว มนุษย์ก็จะกระทำในสิ่งที่เกินขอบเขต ยิ่งสังคมเจริญขึ้นเพียงใด วามจำเป็น ที่จะต้องมีมาตรฐานในการกำหนดพฤติกรรมของมนุษย์ ที่จะต้องถือว่าเป็นมาตรฐานอันเดียวกันนั้นก็ยิ่งมี มากขึ้น เพื่อใช้บังคับเป็นการทั่วไปแก่ทุกคนในลักษณะของกฎเกณฑ์และข้อบังคับต่าง ๆ ซึ่งจะกำหนด วิถีทางการปฏิบัติตนในชีวิตประจำวันตั้งแต่เกิดจนตาย กฎเกณฑ์และข้อบังคับหรือวิธีการควบคุมพฤติกรรมของมนุษย์มีการพัฒนา และมีวิวัฒนาการต่อไป อย่างไม่หยุดยั้ง ดังนั้นเราจะปฏิเสธไม่ได้เลยว่ากฎหมายไม่มีความจำเป็น และเกี่ยวข้องกับชีวิตคนเรา ในปัจจุบันนี้ กฎหมายได้เข้ามาเกี่ยวข้องกับชีวิตเรามาก ตั้งแต่เราเกิดก็จะต้องแจ้งเกิดเพื่อขอสูติบัตร เมื่ออายุครบ 15 ปีบริบูรณ์ ก็ต้องทำบัตรประจำตัวประชาชน จะสมรสกันก็ต้องจดทะเบียนสมรสจึงจะ สมบูรณ์และในระหว่างเป็นสามี ภรรยากันกฎหมายก็ยังเข้ามาเกี่ยวข้องไปถึงวงศาคณาญาติอีกหรือจน ตายก็ต้องมีใบตาย เรียกว่าใบมรณะบัตร และก็ยังมีการจัดการมรดกซึ่งกฎหมายก็ต้องเข้ามาเกี่ยวข้อง เสมอนอกจากนี้ในชีวิตประจำวันของคนเรายังมีความเกี่ยวข้องกับ ผู้อื่น เช่นไปตลาดก็มีการซื้อขายและ ต้องมี กฎหมายเข้ามาเกี่ยวข้องในเรื่องการซื้อขาย หรือการ ทำงานเป็นลูกจ้าง นายจ้างหรืออาจจะเป็น ข้าราชการก็ต้องมีกฎหมายเข้ามาเกี่ยวข้องอยู่ตลอดเวลา และที่เกี่ยวข้องกับชาติบ้านเมืองก็เช่นกัน ประชาชนมีหน้าที่ต่อบ้านเมืองมากมาย เช่น การปฏิบัติตนตามกฎหมาย หน้าที่ในการเสียภาษีอากร หน้าที่รับราชการทหาร สำหรับชาวไทย กฎหมายต่าง ๆ ที่เข้ามาเกี่ยวข้องก็มีมากมายหลายฉบัย เช่น กฎหมายรัฐธรรมนูญ กฎหมายแรงงาน กฎหมายภาษีอากร กฎหมายแพ่ง กฎหมายอาญา "คนไม่รู้ กฎหมายไม่เป็นข้อแก้ตัว" เป็นหลักที่ว่า บุคคลใดจะแก้ตัวว่าไม่รู้กฎหมายเพื่อให้หลุดพ้นจากความผิด ตามกฎหมายมิได้ ทั้งนี้ ถ้าหากต่างคนต่างอ้างว่าตนไม่รู้กฎหมายที่ทำไปนั้น ตนไม่รู้จริง ๆ เมื่อกล่าวอ้าง อย่างนี้คนทำผิดก็คงจะรอดตัว ไม่ต้องรับผิด ไม่ต้องรับโทษกัน ก็จะเป็นการปิดหูปิดตาไม่อยากรู้กฎหมาย และถ้าใครรู้กฎหมายก็จะต้องมีความผิด รู้มากผิดมากรู้น้อยผิดน้อย ต่จะอ้างเช่นนี้ไม่ได้เพราะถือว่าเป็น หลักเกณฑ์ของสังคมที่ประชาชนจะต้องมีความรู้ เรียนรู้กฎหมาย เพื่อขจัดข้อปัญหาการขัดแย้ง ความ ไม่เข้าใจกัน ด้วยวิธีการที่เรียกว่า กฎเกณฑ์อันเดียวกันนั้นก็คือ กฎหมาย นั่นเอง



องค์ประกอบของกฎหมาย

กฎหมาย สามารถแยกองค์ประกอบ ออกได้เป็น ๔ ข้อคือ

๑. กฎหมายเป็นบทบัญญัติ.


๒. ผู้มีอำนาจตรากฎหมาย จะต้องเป็นผู้มีอำนาจสูงสุดในประเทศ.


๓. บทบัญญัติที่กำหนดไว้ มี ๒ ประเภท คือ


(๑) บทบัญญัติ ที่ใช้ในการบริหารบ้านเมือง.


(๒) บทบัญญัติที่ใช้บังคับบุคคล ในความสัมพันธ์ระหว่างกัน (ไม่เกี่ยวกับการบริหารบ้านเมือง).


๔. กฎหมายต้องมีสภาพบังคับ ผู้ใดฝ่าฝืน ต้องได้รับโทษ หรือ ต้องถูกบังคับให้ปฏิบัติตาม.


ซึ่งจะได้อธิบายตามลำดับไป

๑. กฎหมายเป็น บทบัญญัติ.
บทบัญญัติ เป็นคำศัพท์ที่ใช้ในกฎหมาย การที่เราจะทราบว่า บทบัญญัติ คืออะไร เราคงต้องดูจากพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตสถาน ซึ่งพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน ได้ให้นิยามความหมาย ของถ้อยคำที่เกี่ยวข้องไว้ว่า


“บท”


๐ เป็นคำนาม หมายความว่า ข้อความเรื่องหนึ่งๆ หรือ ตอนหนึ่ง


“บัญญัติ”


๐ เป็นคำนาม หมายความว่า ข้อความที่ตรา หรือ กำหนดขึ้นไว้เป็น ข้อบังคับ เป็นหลักเกณฑ์ หรือเป็นกฎหมาย เช่น พระราชบัญญัติ พุทธบัญญัติ บัญญัติ ๑๐ ประการ.


๐ เป็นคำกริยา หมายความว่า ตรา หรือ กำหนดขึ้นไว้เป็น ข้อบังคับ เป็นหลักเกณฑ์ หรือ เป็นกฎหมาย เช่น บัญญัติศัพท์ บัญญัติกฎหมาย.


“ข้อบังคับ” หรือ “กฎข้อบังคับ” หมายความว่า บทบัญญัติที่เป็นชั้นข้อบังคับ ซึ่งกำหนดขึ้นไว้เป็นระเบียบในการปฏิบัติ หรือดำเนินการตามกฎหมาย.


“บังคับ”


๐ เป็นคำกริยา หมายความว่า ใช้อำนาจสั่งให้ทำ หรือ ให้ปฏิบัติ, ให้จำต้องทำ.


“บทบัญญัติ” หมายความว่า ข้อความที่กำหนดไว้เป็น ลายลักษณ์อักษร ในกฎหมาย.


“ลายลักษณ์” หมายความว่า ตัวหนังสือ หรือเครื่องหมายเป็นรูปต่างๆ.


“อักษร” หมายความว่า ตัวหนังสือ, เครื่องหมายใช้ขีดเขียนแทนเสียง หรือ คำพูด.


จากคำนิยามความหมายของถ้อยคำ ที่เกี่ยวข้องดังกล่าว ทำให้เราทราบว่า บทบัญญัติ คือข้อความ ซึ่งกำหนดขึ้นไว้เป็นระเบียบในการปฏิบัติ หรือดำเนินการ ซึ่งจะต้องมีการบังคับ หรือใช้อำนาจสั่งให้ทำ หรือ ให้ปฏิบัติ และจะต้องบันทึกไว้เป็นลายลักษณ์อักษร การที่ กฎหมาย ต้องบันทึกไว้เป็น ตัวอักษร ก็เพื่อให้เป็นหลักฐานที่จะยกขึ้นมาอ้างอิงได้ในภายหลัง หากไม่มีลายลักษณ์อักษรก็จะต้องใช้วิธีจำเอาไว้ ซึ่งอาจหลงลืม หรือจำผิดเพี้ยนกันไป อันเป็นเหตุให้เกิดการโต้เถียงกัน และไม่มีทางหาข้อยุติได้.

๒. ผู้มีอำนาจตรากฎหมายจะต้องเป็นผู้มีอำนาจสูงสุดในประเทศ.

การที่เราจะทราบว่าใครบ้างเป็นผู้มีอำนาจสูงสุด ที่มีอำนาจบัญญัติกฎหมาย เราต้องทราบเสียก่อนว่า อำนาจคืออะไร?

คำว่า “อำนาจ” มีหลายความหมาย คือ


๐ สิทธิ เช่น มอบอำนาจ.


๐ อิทธิพลที่จะบังคับให้ผู้อื่นต้องยอมทำตาม ไม่ว่าจะด้วยความสมัครใจหรือไม่.


๐ ความสามารถบันดาลให้เป็นไปตามความประสงค์ เช่น อำนาจบังคับของกฎหมาย อำนาจบังคับบัญชา.


๐ ความสามารถ หรือสิ่งที่สามารถทำหรือบันดาลให้เกิดสิ่งหนึ่งสิ่งใดได้ เช่น อำนาจคุณพระศรีรัตนตรัย และ สิ่งศักดิ์สิทธิ์.


๐ กำลัง, ความรุนแรง, เช่นชอบใช้อำนาจ.


๐ ความบังคับบัญชา เช่น อยู่ใต้อำนาจ.


๐ การบังคับ เช่น ขออำนาจศาล.


๓. บทบัญญัติที่เป็นกฎหมาย มี ๒ ประเภท คือ


(๑) บทบัญญัติที่ใช้ในการบริหารบ้านเมือง.


(๒) บทบัญญัติที่ใช้บังคับบุคคลในความสัมพันธ์ระหว่างกัน (ไม่เกี่ยวกับการบริหารบ้านเมือง)


(๑) กฎหมายที่ใช้ในการบริหารบ้านเมือง เป็น กฎหมายที่กำหนดระเบียบความสัมพันธ์ระหว่าง บุคคลผู้มีอำนาจปกครอง กับ บุคคลธรรมดา ซึ่งเป็นความสัมพันธ์ระหว่างผู้ปกครอง กับ ผู้ถูกปกครอง และ ความสัมพันธ์ระหว่างผู้ปกครอง กับผู้ปกครองด้วยกัน กฎหมายประเภทนี้ บัญญัติขึ้นเพื่อประโยชน์ในการบริหารประเทศโดยเฉพาะ ในทางวิชาการเรียกกันว่า “กฎหมายปกครอง”


กฎหมายปกครอง มีองค์ประกอบ ที่เป็นสาระสำคัญ ๕ ประการ คือ ๑. สถาบัน ๒. ตำแหน่ง ๓. หน้าที่ ๔. อำนาจ ๕. ความรับผิดชอบ.


(๒) กฎหมายที่ใช้บังคับบุคคลในความสัมพันธ์ระหว่างกัน เป็นกฎหมายที่กำหนดระเบียบความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลธรรมดา หรือ สามัญชน ด้วยกัน ทางวิชาการเรียกว่า “กฎหมายเอกชน”


กฎหมายเอกชน มีองค์ประกอบที่เป็นสาระสำคัญ ๔ ประการ คือ

๑. สถานภาพ ๒. สิทธิ ๓. หน้าที่ ๔. ความรับผิด


๔. กฎหมาย ต้องมีสภาพบังคับ    มาตรการบังคับของกฎหมาย


กฎหมายได้กำหนดมาตรการ และ วิธีการบังคับไว้ ๒ ประเภทคือ


(๑) การลงโทษ


(๒) การบังคับให้ปฏิบัติตามข้อบังคับ.


(๑) การลงโทษ ผู้ที่ฝ่าฝืนบทบัญญัติของกฎหมายอาญา จะต้องรับผิดในทางอาญา โดยจะต้องถูกลงโทษตามกฎเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนดไว้


คำว่า "โทษ" หมายความว่า มาตรการที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับ ดำเนินการแก่ ผู้กระทำความผิดอาญา


โทษที่กำหนดไว้ในกฎหมายอาญา มี ๕ ประการคือ


๑. ประหารชีวิต ๒. จำคุก ๓. กักขัง ๔. ปรับ ๕. ริบทรัพย์สิน


คำว่า " ลงโทษ" หมายความว่า ทำโทษ เช่น จำขัง จำคุก เป็นต้น.


(๒) การบังคับให้ปฏิบัติตามข้อบังคับ การบังคับให้ปฏิบัติตามข้อบังคับของกฎหมาย เป็นสภาพบังคับทางกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ได้แก่ การบังคับให้ชำระหนี้ หากไม่ชำระจะถูกบังคับยึดทรัพย์สินออกขายทอดตลาด เพื่อนำเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดมาชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ หรืออาจถูกฟ้องให้ตกเป็นบุคคลล้มละลาย เป็นต้น ไม่มีการลงโทษเหมือนกรณีฝ่าฝืนกฎหมายอาญา.

เว้นแต่ ในชั้นบังคับคดี บางกรณี คดีที่ศาลออกคำบังคับให้ผู้แพ้คดี หรือ ลูกหนี้ตามคำพิพากษา (กระทำการ หรือ งดเว้นกระทำการ) เมื่อพ้นกำหนดเวลาตามคำบังคับแล้ว ผู้แพ้คดี หรือลูกหนี้ตามคำพิพากษา จงใจไม่ปฏิบัติตามหมายบังคับคดี และผู้ชนะคดี หรือเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาไม่มีวิธีบังคับอื่นใดที่จะใช้บังคับได้ กฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งให้อำนาจศาลที่จะออกหมายจับผู้แพ้คดี หรือลูกหนี้ตามคำพิพากษามากักขังไว้ เพื่อบังคับ แต่ห้ามมิให้กักขังแต่ละครั้งเกินกว่า หกเดือน นับแต่วันจับหรือกักขัง แล้วแต่กรณี (ป.วิแพ่ง. มาตรา ๒๙๗, ๓๐๐.)
 




ประเภทของกฎหมาย
การแบ่งแยกประเภทของกฎหมาย กฎหมายแบ่งแยกตามข้อความของกฎหมายได้เป็น 3 ประเภท



(1) กฎหมายมหาชน (Public Law)


(2) กฎหมายเอกชน (Private Law)


(3) กฎหมายระหว่างประเทศ (International Law)


1. กฎหมายมหาชน (Public Law) ได้แก่ กฎหมายที่กำหนดความสัมพันธ์ระหว่างรัฐหรือหน่วยงานของรัฐกับราษฎร ในฐานะที่เป็นฝ่ายปกครองราษฎร กล่าวคือในฐานะที่รัฐมีฐานะเหนือราษฎร แบ่งแยกสาขากฎหมายมหาชนได้ ดังนี้


(1) รัฐธรรมนูญ


(2) กฎหมายปกครอง


(3) กฎหมายอาญา


(4) กฎหมายว่าด้วยพระธรรมนูญศาลยุติธรรม


(5) กฎหมายว่าด้วยวิธีพิจารณาความอาญา


(6) กฎหมายว่าด้วยวิธีพิจารณาความแพ่ง


(1) รัฐธรรมนูญ หมายถึง กฎหมายที่ว่าด้วยระเบียบแห่งอำนาจสูงสุดในรัฐ และความสัมพันธ์ระหว่างอำนาจนั้น ๆ ต่อกันและกัน ลักษณะทั่วไปคือ


ก. กำหนดระเบียบแห่งอำนาจสูงสุด อำนาจอธิปไตย ใครเป็นเจ้าของ (มาตรา


3 แห่ง รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 บัญญัติว่า อำนาจอธิปไตยมาจากปวงชนชาวไทยพระมหากษัตริย์ผู้เป็นประมุขทรงใช้อำนาจนั้นทางรัฐสภา คณะรัฐมนตรีและศาลตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้)


ข. รัฐธรรมนูญต้องมีข้อความกำหนดความสัมพันธ์ระหว่างอำนาจนิติบัญญัติอำนาจบริหาร อำนาจตุลาการต่อกันและกัน


(2) กฎหมายปกครอง ได้แก่กฎหมายที่กำหนดรายละเอียดในการปกครองลดหลั่นลง


จากกฎหมายรัฐธรรมนูญ รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายว่าด้วยอำนาจการปกครองประเทศแต่กฎหมายปกครองเป็นกฎหมายว่าด้วยการดำเนินการปกครอง ซึ่งในกฎหมายนี้จะกล่าวถึงการจัดระเบียบแห่งองค์การปกครอง (เช่น จัดแบ่งออกเป็นกระทรวง ทบวง กรม หรือ เทศบาล สุขาภิบาล ฯลฯ ความเกี่ยวพันระหว่างองค์การเหล่านี้ต่อกันและกัน และความเกี่ยวกับระหว่างองค์การเหล่านี้กับราษฎร) กฎหมายปกครองไม่ได้รวบรวมขึ้นในรูปของประมวลกฎหมาย กฎหมายต่าง ๆ ที่อยู่ในสาขากฎหมายปกครองเป็นจำนวนมาก อาทิ เช่น พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวงกรม พระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องถิ่น พระราชบัญญัติจัดระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี พระราชบัญญัติเทศบาล พระราชบัญญัติสุขาภิบาล พระราชบัญญัติองค์การบริหารส่วนจังหวัด และพระราชบัญญัติองค์การบริหารส่วนตำบล


(3) กฎหมายอาญา ได้แก่กฎหมายที่บัญญัติถึงความผิดและโทษ แยกพิจารณาได้ดังนี้


การบัญญัติความผิด หมายความว่า การบัญญัติว่าการกระทำและการงดเว้นการกระทำอย่างใดเป็นความผิดอาญา


การบัญญัติโทษ หมายความว่า เมื่อใดบัญญัติว่าการกระทำหรือการงดเว้นการกระทำอย่างใดเป็นความผิดแล้ว ก็ต้องบัญญัติโทษอาญาสำหรับความผิดนั้นไว้ด้วย


ประมวลกฎหมายอาญาแบ่งออกเป็น 3 ภาค ภาค 1 บทบัญญัติทั่วไป ภาค 2 ความผิด ภาค 3 ลหุโทษ ภาค 1 ตามมาตรา 17 แห่งประมวลกฎหมายอาญาให้นำไปใช้ในกรณีความผิดตามกฎหมายอื่นได้ด้วย


หลักเกณฑ์สำคัญ ของประมวลกฎหมายอาญา มีดังนี้


(1) จะไม่มีความผิดโดยไม่มีกฎหมาย [1]


(2) จะไม่มีโทษโดยไม่มีกฎหมาย โทษอย่างไรก็ต้องลงอย่างนั้น จะให้ลงโทษอย่างอื่นไม่ได้


(3) จะต้องตีความกฎหมายอาญาโดยเคร่งครัด


(4) การอุดช่องว่างแห่งกฎหมาย อุดช่องว่าเป็นผลร้ายแก่จำเลยไม่ได้


(5) จะแก้ตัวว่าไม่รู้กฎหมาย เพื่อให้จากความรับผิดไม่ได้(มาตรา64)


หลักเกณฑ์ที่จะพิจารณาว่าการกระทำใดเป็นความผิดอาญา มี 3 ข้อ


1. ต้องมีการกระทำ


2. การกระทำนั้นเข้าองค์ประกอบที่กฎหมายบัญญัติว่าเป็นความผิด


3. ไม่มีกฎหมายยกเว้นโทษ หรือ ไม่มีกฎหมายยกเว้นความผิด


(4) กฎหมายว่าด้วยพระธรรมนูญศาลยุติธรรม หมายความถึงกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งศาลและอำนาจในการพิจารณาพิพากษาของศาลและของผู้พิพากษา มีหลักการดังนี้


(1) หลักอำนาจพิจารณาพิพากษาอรรถคดี ต้องเป็นของศาลโดยเฉพาะ


(2) หลักการจัดตั้งศาล จัดตั้งศาลต้องกระทำโดยพระราชบัญญัติ


(3) หลักการห้ามตั้งศาลพิเศษ


(4) หลักการผู้พิพากษาย่อมมีอิสระในการพิจารณาพิพากษาอรรถคดีซึ่งตามรัฐธรรมนูญให้หลักประกันไว้ 2 ประการ คือ


(ก) การแต่งตั้ง ย้าย ถอดถอน ต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการตุลาการก่อนแล้วจึงนำความกราบบังคมทูลเพื่อทรงแต่งตั้งและถอดถอนหรือโยกย้ายได้


(ข) การเลื่อนตำแหน่งการเลื่อนเงินเดือน ต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการตุลาการ หลักประกันทั้ง 2 ประการ ดังกล่าวทำให้ผู้พิพากษาเป็นอิสระจากฝ่ายบริหาร เพราะฝ่ายบริหารจะให้คุณหรือโทษผู้พิพากษาไม่ได้ คณะกรรมการตุลาการเป็นคนกลางไม่ขึ้นต่อฝ่ายบริหาร

(5) กฎหมายว่าด้วยวิธีพิจารณาความอาญา ได้แก่ ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา พุทธศักราช 2477 และฉบับแก้ไขเพิ่มเติม เป็นกฎหมายที่บัญญัติถึงกระบวนการที่จะนำตัวผู้กระความความผิดมารับโทษตามความผิดที่กำหนดในประมวลกฎหมายอาญา เริ่มตั้งแต่ ขอบเขตของเจ้าพนักงานตำรวจ อัยการ และศาลในการพิจารณาคดี หลักเกณฑ์และวิธีการพิจารณาคดีเพื่อให้ได้ตัวผู้กระทำความผิดมาลงโทษ

(6) กฎหมายว่าด้วยวิธีพิจารณาความแพ่ง ได้แก่ ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ซึ่งมีสาระสำคัญ ดังนี้


(1) หลักการเริ่มคดีอยู่ที่คู่ความ ไม่ว่าจะเป็นตัวฟ้องก็ดี คำให้การก็ดี หรือคำร้องต่อศาลที่พิจารณาคดีแพ่งก็ดี คู่ความจะต้องระมัดระวังรักษาผลประโยชน์ของตนเอง


(2) การพิจารณาดำเนินไปโดยเคร่งครัดต่อแบบพิธี เช่นว่า การยื่นเอกสารจะต้องยื่นต้นฉบับ หรือกรณีใดยื่นสำเนาเอกสารได้ เป็นต้น เพราะการปฏิบัติไม่ถูกต้องอาจมีผลให้ศาลไม่รับฟังพยานเอกสารนั้น


(3) ไม่จำเป็นต้องถือเอาความสัตย์จริงเป็นใหญ่ เพราะคู่ความต้องระวังรักษาผลประโยชน์ของตนเอง เช่น คดีฟ้องของเรียกเงินกู้ ความจริงมิได้กู้ แต่จำเลยเห็นว่าเป็นจำนวนเงินเล็กน้อย จึงยอมรับว่ากู้มาจริง ศาลก็ต้องพิพากษาให้เป็นไปตามฟ้องของโจทก์และคำรับของจำเลย เว้นแต่ในกรณีที่ศาลอาจยกข้อกฎหมายที่เกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนขึ้นมาอ้างได้ ศาลอาจวินิจฉัยไปโดยไม่ฟังคำรับของคู่ความก็ได้


2. กฎหมายเอกชน(Private Law) ได้แก่ กฎหมายที่กำหนดความสัมพันธ์ระหว่างเอกชนต่อเอกชนด้วยกันในฐานะเท่าเทียมกัน เช่นเรื่องสัญญาซื้อขาย ก. ทำสัญญาซื้อขายกับ ข. ก. กับ ข. ต่างก็อยู่ในฐานะเท่าเทียมกัน ก. จะบังคับ ข. ให้ตกลงกับ ก. อย่างใด ๆ โดย ข. ไม่สมัครใจไม่ได้ มีข้อที่ควรสังเกตว่าในบางกรณีรัฐก็ได้เข้ามาทำสัญญากับราษฎร ในฐานะที่รัฐเป็นราษฎรได้ ซึ่งก็ต้องมีความสัมพันธ์เหมือนสัญญาซื้อขายระหว่างบุคคลธรรมดา กฎหมายเอกชนที่กล่าวไว้ในที่นี้ ได้แก่ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และกฎหมายอื่น ๆ โดยสรุป


(1) ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มีลักษณะเป็นประมวลกฎหมายแบ่งแยกออกเป็นหลายลักษณะด้วยกัน เช่น นิติกรรมสัญญา หนี้ ซื้อขาย เช่าทรัพย์ เช่าซื้อ ละเมิด ตัวแทน นายหน้า เป็นต้น ในแต่ละลักษณะได้กำหนดรายละเอียดต่าง ๆ ไว้ ในการศึกษากฎหมายของนักศึกษาคณะนิติศาสตร์แทบทุกมหาวิทยาลัย จะมีการศึกษาถึงเนื้อหารายละเอียดในกฎหมายนั้น ๆ แต่ละลักษณะ แต่ในที่นี้ที่กล่าวถึงไว้ก็เพียงเพื่อให้ทราบว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มีลักษณะเป็นกฎหมายเอกชน เท่านั้น


(2) กฎหมายอื่น ๆ กฎหมายที่กำหนดความสัมพันธ์ระหว่างเอกชนต่อเอกชนในฐานะเท่าเทียมกัน อันมีลักษณะเป็นกฎหมายเอกชนยังมีอยู่อีกมาก อันได้แก่พระราชบัญญัติที่มีลักษณะพิเศษอื่น อย่างเช่น ประมวลกฎหมายที่ดิน ซึ่งจำกัดสิทธิในการมีที่ดินของบุคคลบางประเภท เช่น คนต่างด้าว เป็นต้น พระราชบัญญัติควบคุมค่าเช่านา พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ซึ่งมีลักษณะเป็นกึ่งกฎหมายมหาชนและกึ่งกฎหมายเอกชน เพราะมีบทบัญญัติให้เจ้าพนักงานเข้าไปเกี่ยวข้อง เช่น เป็นผู้ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทแรงงานระหว่างลูกจ้างและนายจ้าง

3. กฎหมายระหว่างประเทศ(International Law) หมายถึง กฎหมายที่กำหนดความสัมพันธ์ระหว่างรัฐต่อรัฐด้วยกัน และแบ่งแยกออกตามความสัมพันธ์ได้ 3 สาขา คือ


(1) กฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีเมือง ซึ่งกำหนดความสัมพันธ์ระหว่างรัฐต่อรัฐด้วยกันในฐานะที่รัฐเป็นบุคคลตามกฎหมายระหว่างประเทศ เช่น กำหนดข้อบังคับการทำสงครามระหว่างกันและกัน


(2) กฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคล ซึ่งกำหนดความสัมพันธ์ระหว่างรัฐต่อรัฐด้วยกันในทางคดีบุคคล คือ ในทางเอกชนหรือในทางแพ่ง กฎหมายนี้จะกำหนดว่าถ้าข้อเท็จจริงพัวพันกับต่างประเทศในทางใดทางหนึ่ง เช่น การสมรสกับหญิงที่เป็นคนต่างด้าว หรือการซื้อขายของที่อยู่ในต่างประเทศจะใช้กฎหมายภายในประเทศ (คือกฎหมายไทย) หรืออาจใช้กฎหมายต่างประเทศบังคับแก่คดีนั้น ๆ


(3) กฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีอาญา ซึ่งกำหนดความสัมพันธ์ระหว่างรัฐต่อรัฐด้วยกันทางคดีอาญา เช่น กำหนดว่าการกระทำความผิดนอกประเทศในลักษณะใดบ้างจะพึงฟ้องร้องในประเทศไทย ตลอดจนวิธีส่งผู้ร้ายข้ามแดน เป็นต้น







ลำดับศักดิ์ของกฎหมายในระบบกฎหมายไทย แบ่งอย่างละเอียดเป็น 7 ชั้น ได้แก่



1. รัฐธรรมนูญ


2. พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ


3. พระราชบัญญัติ


4. พระราชกำหนด


5. พระราชกฤษฎีกา


6. กฎกระทรวง


7. กฎหมายที่ตราโดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น


1) รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย เป็นกฎหมายที่กำหนดรูปแบบของการปกครองและระเบียบบริหารประเทศ ตลอดจนสิทธิหน้าที่ของประชาชนพลเมืองในประเทศนั้นรัฐธรรมนูญจึงเป็นกฎหมายที่มีศักดิ์สูงสุด เป็นกฎหมายที่สำคัญกว่ากฎหมายฉบับใดทั้งสิ้นและเป็นกฎหมายหลักที่ให้หลักประกันแก่ประชาชน จะมีกฎหมายฉบับใดออกมาขัดแย้งรัฐธรรมนูญฯ มิได้ หากมีกฎหมายฉบับใด เรื่องใดออกมาขัดกับรัฐธรรมนูญฯ กฎหมายฉบับนั้นย่อมไม่มีผลใช้บังคับ เนื่องจากขัดกับกฎหมายแม่บทที่ยึดถือเป็นหลักในการปกครองบริหารประเทศ กฎหมายฉบับอื่น ๆ ที่ออกมาย่อมต้องสนองรับหลักการและนโยบายที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ


2) พระ ราชบัญญัติและประมวลกฎหมาย เป็นกฎหมายที่ออกโดยผ่านกระบวนการนิติบัญญัติ ตามที่บัญญัติเป็นขั้นตอนไว้ในรัฐธรรมนูญ โดยความเห็นขอบของรัฐสภา ซึ่งเป็นตัวแทนของประชาชนทั้งปวง และพระมหากษัตริย์ได้ลงพระปรมาภิไธยใช้บังคับเป็นกฎหมาย จึงเป็นกฎหมายที่ออกตามปกติธรรมดา โดยความเห็นชอบของประชาชนซึ่งเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย ดังที่กล่าวกันว่า พระราชบัญญัติคือกฎหมายที่พระมหากษัตริย์ทรงตราขึ้นโดยคำแนะนำและยินยอมของ รัฐสภา ถือว่าเป็นกฎหมายที่มีความสำคัญรองลงมาจากรัฐธรรมนูญ การออกกฎหมายโดยทั่วไปนั้น โดยวิธีปกติธรรมดาจะออกในรูปพระราชบัญญัติเสมอ แต่ถ้าหากกฎหมายฉบับใดมีลักษณะครอบคลุมเรื่องที่เกี่ยวพันกันหลายเรื่องก็ อาจจะออกในรูปประมวลกฎหมายได้ เช่น ประมวลกฎหมายอาญาประมวลกฎหมายที่ดิน ประมวลกฎหมายรัฐฎากร เป็นต้น แต่ประมวลกฎหมายเหล่านี้เมื่อร่างเสร็จเรียบร้อยแล้วจะต้องมีพระราชบัญญัติบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายฉบับนั้น ๆ อีกทีหนึ่ง


3) พระราชกำหนด เป็นกฎหมายที่พระมหากษัตริย์ทรงตราขึ้นโดยอาศัยอำนาจตามรัฐธรรมนูญ และทรงตราขึ้นตามคำแนะนำของคณะรัฐมนตรีเฉพาะในกรณีที่มีเหตุผลพิเศษ เช่น มีความจำเป็นรีบด่วน ในอันที่จะรักษาความปลอดภัย ความมั่นคง หรือรักษาผลประโยชน์ของประเทศจึงไม่อาจรอให้ฝ่ายนิติบัญญัติออกกฎหมายมาตาม วิธีปกติได้ทันการณ์พระราชกำหนดมีศักดิ์เทียบเท่ากับพระราชบัญญัติ แต่เมื่อตราขึ้นใช้แล้วจะต้องนำเสนอต่อรัฐสภาภายในระยะเวลาอันสั้น (ตามที่รัฐธรรมนูญฯ จะกำหนดไว้ เช่น สอง หรือสามวัน) ถ้ารัฐสภาอนุมัติพระราชกำหนดก็กลายสภาพเป็นพระราชบัญญัติ แต่ถ้ารัฐสภาไม่อนุมัติพระราชกำหนด พระราชกำหนดนั้นก็ตกไปหรือสิ้นผลบังคับ การต่าง ๆ ที่เป็นไประหว่างที่มีพระราชกำหนดก็ไม่ถูกกระทบกระเทือนเพราะเหตุที่พระราช กำหนดต้องตกไปเช่นนั้น


4) ประกาศพระบรมราชโองการให้ใช้บังคับดังเช่นพระราชบัญญัติ รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันไม่ได้มอบอำนาจให้พระมหากษัตริย์ทรงออกกฎหมายในรูปพระบรมราชโองการได้ แต่ในรัฐธรรมนูญฉบับก่อน ๆ ได้ให้พระราชอำนาจไว้ โดยให้ออกเป็นประกาศพระบรมราชโองการให้ใช้บังคับดังเช่นพระราชบัญญัติ ปกติประกาศพระบรมราชโอการฯ มีลักษณะคล้ายคลึงกับพระราชกำหนด กล่าวคือในยามที่มีสถานะสงคราม หรือในภาวะคับขันถึงขนาดอันอาจเป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติ และการใช้อำนาจนิติบัญญัติทางรัฐสภาอาจขัดข้องหรือไม่เหมาะกับสถานการณ์ รัฐธรรมนูญบางฉบับจะมีบทบัญญัติให้คณะรัฐมนตรีนำความขึ้นกราบทูลต่อพระมหากษัตริย์ เพื่อให้พระองค์ทรงใช้อำนาจโดยประกาศพระบรมราชโองการให้ใช้บังคับดังเช่นพระราชบัญญัติ จึงทำให้ประกาศพระบรมราชโองการฯ มีศักดิ์เทียบกับพระราชบัญญัติ เช่นเดียวกับพระราชกำหนด แต่ประกาศพระบรมราชโองกาฯ ไม่เป็นกฎหมายที่ใช้ชั่วคราวดังเช่นพระราชกำหนด ที่จะต้องรีบให้รัฐสภาอนุมัติโดยด่วน ประกาศพระบรมราชโองการฯ จึงเป็นกฎหมายที่ถาวรจนกว่าจะมีการยกเลิกโดยพระราชบัญญัติหรือกฎหมายอื่น


5) พระราชกฤษฎีกา คือกฎหมายที่พระมหากษัตริย์ทรงตราขึ้นโดยคำแนะนำของคณะรัฐมนตรี เป็นกฎหมายที่ฝ่ายบริหารได้ออกโดยอาศัยอำนาจแห่งกฎหมาย เช่น พระราชบัญญัติฉบับใดฉบับหนึ่ง หรือโดยที่พระมหากษัตริย์ ทรงใช้อำนาจตราขึ้นเป็นพิเศษ โดยไม่ขัดต่อ กฎหมาย พระราชกฤษฎีกาจึงมีศักดิ์ต่ำกว่าพระราชบัญญัติ พระราชกำหนดและประกาศพระบรมราชโองการฯ และจะขัดกับกฎหมายใดที่มีศักดิ์สูงกว่าไม่ได้ โดยปกติพระราชกฤษฎีกาเป็นกฎหมายที่กำหนดรายละเอียดสืบเนื่องมาจากความในพระ ราชบัญญัติหรือพระราชกำหนดจึงเป็นการประหยัดเวลาที่รัฐสภาไม่ต้องพิจารณาใน รายละเอียดคงพิจารณาแต่เพียงหลักการและนโยบายที่จะต้องบัญญัติในกฎหมายหลัก แล้วจึงให้อำนาจมาออกพระราชกฤษฎีกาภายหลัง ซึ่งเป็นการสะดวกที่ฝ่ายบริหารจะมากำหนดรายละเอียดในทางปฏิบัติเองและยัง เปลี่ยนแปลงแก้ไขให้เหมาะสมแก่เหตุการณ์ได้ง่าย เพราะฝ่ายบริหารสามารถแก้ไขได้โดยไม่ต้องผ่านขั้นตอนนิติบัญญัติดังเช่นการ ออกพระราชบัญญัติ อนึ่ง มีพระราชกฤษฎีกาบางประเภทที่ออกโดยอาศัยอำนาจตามรัฐธรรมนูญ เช่น พระราชกฤษฎีกาเปิดหรือปิดสมัยประชุมสภา พระราชกฤษฎีกายุบสภา พระราชกฤษฎีกาเหล่านี้มีความสำคัญมากกว่าพระราชกฤษฎีกาที่ออกโดยอาศัยอำนาจ ตามพระราชบัญญัติดังกล่าวมาข้างต้น

6) กฎกระทรวง คือกฎหมายที่รัฐมนตรีผู้รักษาการตามพระราชบัญญัติ หรือพระราชกำหนดเป็นผู้ออกเพื่อดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมายหลักในเรื่องนั้น ๆ และโดยปกติกฎหมายหลักจะระบุให้อำนาจในการออกกฎกระทรวงในแต่ละกรณีไว้ กฎกระทรวงเป็นกฎหมายที่ออกโดยฝ่ายบริหารเช่นเดียวกับพระราชกฤษฎีกา แต่แตกต่างกับพระราชกฤษฎีกาตรงที่ว่า ถ้าเป็นเรื่องสำคัญมากก็จะออกเป็นพระราชกฤษฎีกา แต่แตกต่างกับพระราชกฤษฎีกาตรงที่ว่า ถ้าเป็นเรื่องสำคัญมากก็จะออกเป็นพระราชกฤษฎีกา ถ้าสำคัญรองลงมาก็ออกเป็นกฎกระทรวง เนื่องจากกฎกระทรวงเป็นกฎหมายที่ออกตามกฎหมายแม่บทจึงไม่อาจจะขัดกับกฎหมายที่เป็นแม่บทนั้นเอง และกฎหมายอื่นๆ ที่มีศักดิ์สูงกว่าได้นอกจากฎกระทรวง หากจะกำหนดกฎเกณฑ์ในทางปฏิบัติ ก็อาจจะออกระเบียบ ข้อบังคับหรือประกาศเพื่อความสะดวกในการบริหารงานได้อีกด้วย

7) เทศบัญญัติ ข้อบัญญัติจังหวัด ข้อบังคับสุขาภิบาล ต่างเป็นกฎหมายที่ได้รับอำนาจจากพระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ. 2496 พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการส่วนจังหวัด พ.ศ. 2498 และพระราชบัญญัติสุขาภิบาล พ.ศ. 2495 ตามลำดับ องค์การบริหารส่วนท้องถิ่นที่เกิดขึ้นภายใต้กฎหมายเหล่านี้ คือ เทศบาล องค์การบริหารส่วนจังหวัดและสุขาภิบาล ซึ่งเป็นองค์กรที่ปกครองตนเอง ต่างก็มีอำนาจตามกฎหมายแต่ละฉบับที่จะออกกฎหมายเพื่อบริหารงานตามอำนาจหน้าที่ขององค์กรที่มีอยู่ในกฎหมาย แต่การออกกฎหมายระดับนี้ย่อมจะขัดต่อกฎหมายในระดับต่าง ๆ ที่กล่าวมาแล้วข้างต้นไม่ได้ เพราะเป็นกฎหมายที่ใช้เฉพาะในท้องถิ่นนั้น ๆ ต่างกับกฎหมายอื่น ๆ ที่กล่าวมาแล้วนั้น ล้วนแต่เป็นกฎหมายซึ่งมีผลใช้บังคับได้ทั่วราชอาณาจักร